Case StudySocialTips

Avatar

Nutn0n November 3, 2018

ข้อสงสัยเด็กไทย อยากเป็น Blogger, Youtuber, Game Caster อาชีพ เรียนคณะอะไรดี

ถ้าเป็นในเมื่อ 10 ปีก่อน เราถามเด็ก ๆ ว่าอยากเป็นอะไร คำตอบอาจจะเป็นหมอ, นักวิทยาศาตร์ หรือทนายความ แต่ในทุกวันนี้อาชีพเกิดใหม่หลาย ๆ อย่างเริ่มเป็นที่ปรากฏให้เห็นกันบนพื้นที่สื่อ จากเดิมบนสื่อที่เราจะเห็นดารา พิธีกร หรือนักร้อง ทุกวันนี้เรามีอาชีพใหม่ ๆ อย่าง YouTuber, Game Caster, Blogger หรือทำคอนเทนต์ออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งในแบบงานประจำ หรือฟรีแลนซ์ ซึ่งบอกได้เลยว่า รายได้นั้นไม่แพ้อาชีพอย่าง หมอหรือนักวิทยาศาสตร์เลย

ถ้าเราอยากเป็นหมอ เราก็ต้องเรียนหมอ อยากเป็นทนายอาจจะต้องเรียนนิติ แล้วถ้าเราอยากเป็น YouTuber หรือ Blogger ขึ้นมาล่ะ อันนี้ต้องเรียนอะไร ?

ณ ตอนนี้ Blogger, YouTuber หลาย ๆ คนมีผลงานกันมาตั้งแต่ช่วงมัธยม ซึ่งอาจจะสงสัยว่า สรุปแล้วเราควรจะเรียนอะไร หรือใครที่หวังอยากจะมุ่งไปสู่อาชีพเหล่านี้จะต้องเลือกเส้นทางของตัวเองในฝั่งของการศึกษาอย่างไรดี

ทำความเข้าใจอาชีพในปัจจุบัน ว่าเราไม่ได้เรียนเพื่อไปทำอาชีพแล้ว

ด้วยความที่ทุกวันนี้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นเยอะมาก บางอาชีพไม่ได้เป็นอาชีพที่มีหลักสูตรรองรับ แต่เกิดจากความสามารถและการสร้างสรรค์ของตัวบุคคล Blogger, YouTuber ก็เป็นหนึ่งในนั้น อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เราไม่จำเป็นต้องเลือก

แล้วเราจะเอาความรู้มาจากไหนล่ะ ? ก่อนอื่นต้องถามตัวเองก่อนว่า เราอยากเป็นอะไร, เราอยากทำอะไร เรามองภาพของตัวเองในอนาคตว่ายังไง ถ้าเราลองอ่านบทสัมภาษณ์ของ YouTuber หรือ Blogger หลายคนจะพบว่าพวกเขาก็ไม่ได้เรียนคณะที่เกี่ยวข้องหรือเพื่อมาเป็นในสิ่งที่พวกเขาเป็น ณ​ ตอนนี้ ประสบการณ์, การพบเจอ และการนำมาปรับใช้ต่าง ๆ ที่ทำให้พวกเขาเป็น

การที่มหาวิทยาลัยแบ่งออกเป็นคณะต่าง ๆ ก็เพื่อป้อนคนเข้าไปสู่การทำงานในระบบ ในหนังสือ Linchpin ของ Seth Godin ได้อธิบายปรากฏการณ์แนว ๆ นี้ว่า อาชีพที่จะอยู่ยั่งยืนยงและไม่ถูกแทนที่ด้วย AI หรือหุ่นยนต์ ก็คืออาชีพที่เป็น Lichpin ซึ่งการเป็น Linchpin เราจะต้องไม่สามารถถูกแทนด้วยวิธีการได้ เราต้องทำงานด้วยการสร้างวิธีการขึ้นมาเอง ไม่ใช่ใช้วิธีที่คนอื่นคิดไว้ ด้วยความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้ (Learning) ที่เหนือกว่าคนอื่น

ยกตัวอย่างเช่น นาย A อยากเป็นบล็อกเกอร์สายกิน ทำเพจรีวิวอาหาร เรื่องราวของนาย A อาจจะเกิดจากการที่เวลาเขาไปกินอาหารชอบโพสต์ลงบนโซเชียล จากนั้นก็มีผู้ติดตาม แล้วนาย A ก็ทำการศึกษาด้วยการลองผิดลองถูกมาเรื่อย ๆ จนมีผู้ติดตามและมีลูกค้าเข้ามา

หรือนาย B เป็นบล็อกเกอร์สายประวัติศาสตร์ ทำช่อง YouTube เพื่ออธิบายประวัติศาสตร์ในแบบที่เข้าใจง่าย อาจจะเกิดจากที่เขาชอบประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก และอ่านหนังสือมาเยอะมาก จนอยากจะเล่าอยากจะถ่ายทอดให้คนอื่นฟัง ด้วยความเข้าใจของตนจึงสามารอธิบายมันออกมาได้ดี และมีผู้ติดตามในช่อง YouTube หลักหมื่น แม้จะไม่มีลูกค้าที่ซื้อโฆษณา แต่ด้วยชื่อเสียงความเชี่ยวชาญก็ทำให้นาย B ได้รับเชิญให้ไปบรรยายตามโรงเรียน หรืองานต่าง ๆ หรือนาย B อาจจะเขียนหนังสือขึ้นมาและขาย

ดังนั้นบอกเลยว่า Blogger หรือ YouTuber ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ ทั้งหมดนั้นประกอบสร้างมาจากประสบการณ์และความรู้ที่เรามี

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราจะสังเคราะห์ความรู้ออกมาได้ด้วยตัวเอง เราจำเป็นต้องรู้หลาย ๆ สิ่ง ไม่ใช่แค่อยากทำแล้วก็ทำออกมา ดังนั้นการเรียนรู้จึงยังมีความสำคัญเพื่อสอนให้เราคิดเป็น

“โซเชียลไปไวกว่าหลักสูตรในมหาวิทยาลัยมาก เวลาแค่ 4 ปีในมหาลัยที่เหมือนสั้น อาจจะยาวนานพอที่จะทำให้ Trend ใน Trend นึงในการทำคอนเทนต์หายไปเลยก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่เราน่าจะเก็บเกี่ยวคือทักษะและกระบวนการคิดที่สามารถนำไปต่อยอดได้ มากกว่าวิธีการ”

วิธีที่ 1 : เรียนในสิ่งที่เราจะใช้ เฉพาะทาง เราจะทำคอนเทนต์เรื่องอะไร แนวไหน

สำหรับวิธีที่แนะนำคือ เราอาจจะเลือกเรียนในคณะที่เราอยากจะเรียนอยู่แล้วตามพื้นฐานความชอบของเรา เช่น นาย B อาจจะเลือกเรียนประวัติศาสตร์เพื่อเสริมสร้างความรู้ของตัวเองให้มีมากขึ้น หรือนาย A อาจจะเรียนที่เกี่ยวกับอาหารหรือการจัดการทางธุรกิจ ข้อดีก็คือ

  • ได้ความรู้เชิงลึกที่มากกว่าคนทำสื่ออื่น ๆ แน่ ๆ เพราะเรียนสายตรงด้านนี้มา
  • จะมีคอนเนกชั่นเจ๋ง ๆ เช่น อาจารย์, นักวิจัย หรือเพื่อนที่สนใจเรื่องที่เราทำคอนเทนต์อยู่
  • ความถูกต้องของข้อมูลเป๊ะแน่นอน แถมสามารถให้คนอื่นช่วย ๆ ตรวจกันได้

แต่ทักษะที่เราอาจจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมคือเรื่องของการสื่อสาร ดังนั้นใครที่รู้สึกว่าตัวเองสามารถหาความรู้ได้เองพอสมควร อาจจะเลือกวิธีที่สองที่ผู้เขียนแนะนำคือ

วิธีที่ 2 : เรียนเกี่ยวกับมนุษศาสตร์และการสื่อสาร

การทำคอนเทนต์ต่าง ๆ นั้นเป็นการสื่อสาร ซึ่งเมื่อพูดถึงการสื่อสารเราอาจจะนึกถึงคณะนิเทศศาสตร์ หรืออักษรศาสตร์ ที่อยู่ในฝั่งของศิลปะหรือมนุษศาสตร์ เราอาจจะเถียงว่า เรียนนิเทศทำไม ก็ใช้กล้องเป็นแล้ว ไม่ได้อยากทำหนัง ไม่ได้อยากเป็นดารา สมัยนี้ใคร ๆ ก็ทำสื่อได้ แต่นั่นเป็น misconception อย่างนึง นิเทศศาสตร์ไม่ได้เรียนเป็นดารา, อักษรศาสตร์ไม่ได้เรียนภาษา แต่สาขาพวกนี้จะเรียนเกี่ยวกับมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์ ทำไมมนุษย์ถึงแสดงพฤติกรรมแบบนี้

โดยเฉพาะนิเทศศาสตร์ จะเน้นศึกษาเกี่ยวกับทฤษฏีในด้านของการสื่อสาร ทำคอนเทนต์ยังไงให้คนเชื่อ, มีวิธีการพูดโน้มน้าวอย่างไร, พูดยังไงให้ลื่นไหล และมีวิธีการคิดงานอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ทั้งฝั่งคนทำคอนเทนต์และคนเสพคอนเทนต์

ข้อดีของการเรียนฝั่งมนุษยศาสตร์ก็คือ

  • จะเก่งด้านการสื่อสารมาก มีทฤษฏีการสื่อสารรองรับ
  • ได้คอนเนกชั่นในฝั่งของสื่อและวิชาการฝั่งศิลปะ
  • มีโอกาสได้เจอคนหลายหลายรูปแบบ และวิธีการคิดที่แตกต่างออกไปจากที่เคยเจอ

หลาย ๆ บทความที่ถูกนำมาลงบน RAiNMAKER ก็เป็นหนึ่งในศาสตร์ที่ถูกนำมาสอนในคณะอย่างนิเทศศาสตร์ จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่เป็น บรรณาธิการเว็บไซต์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ การทำความรู้ในเรื่องของการสื่อสารมาใช้นั้น ช่วยให้เราสามารถทำผลงานออกมาได้อย่างหากหลายมิติมากขึ้น

สรุป การเป็นบล็อกเกอร์ คือการเป็นตัวของตัวเอง

สรุปเลยก็คือ เราไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็น Blogger, YouTuber จะต้องเรียนอะไร เนื่องจากเส้นทางของมัน ณ ปัจจุบันยังแตกต่างจากวิชาชีพอย่าง หมอ, วิศวะ, ครู พอสมควร (เหมือนกับหลาย ๆ อาชีพ) ปัจจุบันคำว่า เรียนแล้วทำงานไม่ตรงสาย ไม่ควรจะเป็นคำพูดที่ถูกนำมาพูดกันอีกแล้ว เนื่องจากปัจจุบันเราสามารถสร้างเส้นทางของตัวเองขึ้นมาได้ และเลือกทำอาชีพในแบบที่เราชอบจริง ๆ

กว่าจะเป็น Blogger หรือ YouTuber มืออาชีพได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็ไม่ได้มีตำรา ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง เพราะอย่างที่บอกไป วัตถุประสงค์ของการเป็น Blogger หรือ YouTuber คือการถ่ายทอดความเป็นตัวเองออกมา แล้วเมื่อสังคมต้องการมัน ไม่ว่าจะด้วยความต้องการที่มีอยู่แล้ว หรือเราจะสร้างความต้องการขึ้นมา เราจะมีพื้นที่ยืนบนโลกออนไลน์ที่วิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วนี้แน่นอน

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save