Call Out หรือ Speak Out คำศัพท์ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ เป็นการแสดงถึงการใช้ “พลังเสียง” (หรือถ้าเรียกแบบจับต้องได้ก็คือยอด Reach) ที่มีอยู่ในมือของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และดารา ซึ่งถือเป็นการท้าทายและต้องใช้ความกล้าอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นการแสดงถึงการเลือกจุดยืนที่ชัดเจน และแน่นอนว่าต้องสร้างความไม่พอใจให้กับฝั่งตรงข้าม เรามาร่วมวิเคราะห์กันว่าทำไมผู้มีชื่อเสียงและยอดผู้ติดตามสูงจึงควรออกมา “คอลเอาท์”
โดยปกติแล้ว การรับงานของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์คือการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการรีวิวสินค้า อาหาร หรือสถานที่ต่างๆ แล้วถ้าเป็นความเห็นที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างเช่นเรื่องการเมือง จะถือว่าเป็นการชี้ชวนผู้รับสารให้เกิดความแตกแยกหรือไม่?
ก่อนอื่นเรามาดูเคสตัวอย่างเหล่าคนดังที่ต่างประเทศกันว่าใครออกมาคอลเอาท์กันบ้าง
Jesse William ในบทบาทที่หลายคนคุ้นเคยกันดีอย่างหมอศัลยกรรมจากเรื่อง Grey’s Anatomy ได้ออกมาพูดเรื่องความไม่ยุติธรรมในด้านเชื้อชาติในงาน 2016 Bet Awards และเป็นอีกหนึ่งคนที่เคลื่อนไหวอย่างหนักในช่วงเหตุการณ์ #BlackLivesMatter
ท่ามกลางชาเลนจ์แคมเปญมากมายที่เกิดขึ้น Chris Hemsworth ก็ได้ทาเล็บเพื่อแสดงถึงการสนับสนุนแคมเปญ “Polished Man Campaign” โครงการที่ต่อต้านการทำร้ายร่างกายเด็ก (แม้กระทั่งนิ้วก้อยก็ยังทรงพลัง สมแล้วที่เป็นธอร์)
และจะไม่ให้พูดถึง Emma Watson ก็คงเป็นไปไม่ได้ เธอคนนี้เคลื่อนไหวทางสังคมอย่างโดดเด่นในเรื่องของความเท่าเทียมกันทางเพศ และล่าสุดในการรวมตัวกันของ UN ก็ได้พูดถึงจุดยืนในการต่อต้านการทำร้ายร่างกายในมหาวิทยาลัย
หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีหลายคนในวงการบันเทิงที่ออกมาแสดงจุดยืนกันมากมายอาทิ ครูลูกกอล์ฟ โฟกัส จีระกุล หมิว สิริลภัส วงทิลลี่เบิร์ด ฟลุ๊คกะล่อน และอีกหลายคนที่ดันบาร์ของการคอลเอาท์ขึ้นไปสูงลิบ และล่าสุดดันไปไกลถึงระดับโลกอย่าง “เจ้ย – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับชาวไทย ที่ออกมาคอลเอาท์ และเรียกร้องให้รัฐบาลตื่นและทำงานเพื่อประชาชน ในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในฝรั่งเศส
ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย หากเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และคนดังจะออกมาแสดงจุดยืนของตัวเอง เมื่อเห็นชัดว่าเป็นการทำบนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล และเป็นการเรียกร้องที่สิทธิที่พึงมี
ต้องบอกก่อนว่าสิทธิและเสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) และเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) เป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งการแสดงออกถึงความเห็นเหล่านี้ มีไว้เพื่อพิจารณาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ และควรแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ดังนั้นประเทศที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย การแสดงออกถึงความคิดเห็นตนเอง ถือเป็นเรื่องปกติทั่วไป ไม่ต่างจากการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเลยแม้แต่น้อย
การคอลเอาท์ ไม่ใช่การออกมา “สร้าง” ความเสียหายแต่อย่างใด หากแต่เป็นการ “เรียกร้อง” ความเป็นธรรมจากความเสียหายมากกว่า ดังนั้น หากเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เชื่อว่าตัวเองยืนอยู่ข้างเดียวกับสิ่งที่ถูก ก็ควรใช้สิทธิพิเศษในการเปล่งเสียงที่ดังกว่าใครหลายคน ไปยังพื้นที่ที่คนอื่นไปไม่ถึง ออกมาใช้พื้นที่ของตนในการเล่าเรื่อง จ่ายออกไปด้วยความกล้าหาญ เพื่อให้ได้กลับมาซึ่งสิทธิที่พึงมีและความถูกต้อง ซึ่งมีค่ามากเหลือประมาณ
ทุกสิ่งทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย ไม่มีใครไม่เสีย ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหนก็ตาม แน่นอนว่ารวมไปถึงการไม่แสดงความเห็นอะไรเลยเช่นเดียวกัน และราคาของการเพิกเฉย จะยิ่งทำให้การอยู่นิ่งมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ในวันที่ทุกคนร่วมกันดันกำแพง และเคลื่อนตัวไปข้างหน้ากันหมดแล้ว