ช่วงนี้จะเห็นว่าเฟซบุ๊กเองก็สนับสนุนการใช้กลุ่มมากชึ้น สังเกตได้จากการเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงอัลกอริทึม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของกลุ่มอีกด้วย หมายความว่าขณะนี้กลุ่มอาจถูกมองเห็นและเข้าถึงผู้คนได้มากกว่าโพสต์ปกติบนเพจ
เนื่องจากบางครั้งคอนเทนต์บนเพจมีมากมาย ยิ่งถ้าเป็นหน้าฟีดที่มีข้อมูลหลั่งไหลมาใหม่แทบจะทุกวินาที อาจทำให้ผู้ติดตามไม่สามารถไล่ตามทันทุกอย่าง หากสร้างกลุ่มขึ้นมาเพื่ออัปเดตช้อมูลต่างๆ เพื่อนำเสนอสิ่งที่เป็นความสนใจแบบเฉพาะเจาะจง จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถอัปเดตข่าวสารได้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลข่าวสารภายในกลุ่มจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่สนใจอยู่แล้วนั่นเอง
แถมกลุ่มยังเป็นแหล่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและบทสนทนาที่ดี ที่ช่วยให้แบรนด์ใกล้ชิดและเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงจากผู้บริโภคได้มากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเหตุผลที่แบรนด์ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มอีกมากมาย ดังนี้
ช่วยสร้าง Community
แน่นอนว่าการสร้างกลุ่ม ก็เหมือนการสร้างคอมมูนิตี้รวมคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนบทสนทนา และแชร์สิ่งต่างๆ ร่วมกันนั่นเอง ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับแบรนด์ในการทำการตลาด เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
เพิ่มยอด interaction และ engagement
อย่างที่บอกว่ากลุ่มจะเน้นไปที่การสร้างคอมมูนิตี้ ทำให้ทั้งแบรนด์และผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น สังเกตได้ว่าสมาชิกจะมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ ที่ถูกแชร์ในกลุ่ม เนื่องจากเป็นคอนเทนต์ และเรื่องราวที่ตนสนใจอยู่แล้ว
และยังมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะรู้สึกสบายใจมากกว่าในการถามคำถาม หรือรีวิว ตรงนี้จะทำให้แบรนด์รู้สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ รวมถึงความคิด ฟีดแบ็ก และความรู้สึกที่มีต่อแบรนด์ เพื่อนำมาพัฒนาในอนาคตได้อีกด้วย เนื่องจากสมาชิกที่อยู่ในกลุ่ม ค่อนข้างเป็นคนที่ถูกคัดกรองมาแล้วว่ามีความสนใจและมีความรู้จักแบรนด์ค่อนข้างดี
ยิ่งแบรนด์ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะสามารถเปลี่ยนจากลูกค้าธรรมดาให้กลายเป็น Brand loyalty ได้อีกด้วย นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์แลล้ว กลุ่มยังเป็รที่ๆ สามารถเชื่อมต่อผ่านกลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกัน ทำให้เกิดบทสนทนา แสดงความคิดเห็น หรือแชร์สิ่งใหม่ร่วมกัน
ได้ลูกค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
พอเป็นคอมมูนิตี้ก็จะมาจากคนที่สนใจจริงๆ แถมยังอาจมีเกิดการเชิญชวนคนในแวดวงเดียวกันที่สนใจ จึงทำให้เป็นกลุ่มที่มีคุณภาพ และแบรนด์ได้กลุ่มเป้าหมายที่ตรงกลุ่มมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในเพจอาจมีคนที่มากดไลก์เพจไว้เฉยๆ แต่ไม่ได้สนใจ หรือกดไลก์เพื่อร่วมกิจกรรมบางอย่าง เป็นต้น ในขณะที่กลุ่ม คนส่วนมากจะเข้ามาจากความสนใจจริงๆ
เครื่องมือในกลุ่มที่ตอบโจทย์ในการทำ Online Marketing
Facebook Group มีเครื่องมือและฟีเจอร์มากมายที่ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการต่างๆ ที่เป็นระบบมากขึ้น ที่จะช่วยในแง่ของความเอ็กซ์คลูซีฟ และบางวิธีที่ไม่สามารถโปรโมตบนเพจได้
กรองสมาชิกได้
แอดมินสามารถเลือกรับสมาชิกที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้ หรือจะเลือกบล็อก ลบ หรือรายงานบุคคลที่ก่อกวนกลุ่มได้ จึงทำให้การจัดการสมาชิกสะดวกมากขึ้น หมดห่วงเรื่องสมาชิกที่จะมาป่วนกลุ่ม หรือไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายได้เลย
กฎและ Guideline
ในกลุ่มจะสามารถกำหนดกฎและ Guideline ต่างๆ ไว้ได้ หากแบรนด์สร้างกลุ่มก็อาจมีข้อจำกัดหรือข้อความร่วมมือในการโพสต์หรือคอมเมนต์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในกลุ่ม เช่น อาจจะมีกฎว่าขอความร่วมมือไม่พูดถึงแบรนด์คู่แข่ง เพื่อกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เป็นต้น
แต่จำไว้เสมอว่าการตั้งกฎไม่ใช่เพื่อควบคลุมสมาชิก แต่เพื่อเป็นการดูแลรักษาให้กลุ่มเดินตามวัตถุประสงค์นั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ควรใช้ภาษาหรือการกระทำที่เป็นเชิงการบังคับกดดันสมาชิก
ประกาศและปักหมุดโพสต์
การตั้งโพสต์เป็นประกาศ หรือการปักหมุดโพสต์ไว้บนสุด เมื่อสมาชิกเข้ามาในกลุ่มจะสามารถเห็นโพสต์เหล่านี้ได้ทันที ใช้สำหรับโพสต์ที่สำคัญที่ต้องการแจ้งให้ทุกคนรับทราบ เช่น กฎระเบียบของกลุ่ม หรือข้อมูลที่ควรรู้ เป็นต้น
การอนุมัติโพสต์
เป็นตัวช่วยกรองโพสต์ก่อนเผยแพร่ในกลุ่ม แอดมินสามารถเลือกที่จะอนุมัติว่าโพสต์นั้นจะสามารถเผยแพร่ในกลุ่มได้หรือไม่ เพื่อลดความขัดแย้ง การก่อกวน หรือการมุ่งร้ายต่อแบรนด์ หรือประเด็นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น คอนเทนต์เปรียบเทียบแบรนด์คู่แข่ง เป็นต้น
Event และ Get-together
สามารถจัดได้ทั้งอีเวนต์แบบอนอนไลน์และออฟไลน์ภายในกลุ่ม เพื่อให้คนในกลุ่มมาพบปะกัน ซึ่งจะช่วยสร้างความเป็นคอมมูนิตี้ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ผ่านการเชื่อมต่อเช่นนี้ นอกจากจะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค และยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้บริโภคกันเองอีกด้วย
สำหรับการใช้ Get-together สามารถช่วยในการเปิด private sales หรือคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟอย่างคอนเทนต์ Behind the scene ได้อีกด้วย
Live และ Watch Party
เป็นการสร้าง Live Event ขึ้นมา เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มสามารถดูและติดต่อสื่อสารกับแบรนด์ได้อย่างเรียลไทม์ อาจใช้ในการแนะนำสินค้า หรือเป็นการ Toturial สินค้า รีวิว แกะกล่อง ที่จะช่วยเพิ่มยอด engagement ภายในกลุ่มมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
สำหรับ Watch Party ใช้ในการแชร์วิดีโอลงในกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกคนอื่นสามารถรับชมและรีแอ็กในเวลาเดียวกันกับสมาชิกคนอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อสมาชิก แบรนด์อาจใช้ฟีเจอร์นี้ในการเผยแพร่แคมเปญสินค้า เพื่อเป็นการสร้างความตื่นเต้น และสร้างบทสนทนาก็ได้
Poll
การตั้งโพลเพื่อสอบถามคำถามต่างๆ เหมือนเป็นการสำรวจความต้องการ ความคิดเห็น ความชอบ หรือฟีดแบ็ก เพื่อนำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์ของแบรนด์ และเพื่อเป็นการต่อยอดการสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับท็อปปิกต่างๆ ต่อไปอีกในอนาคต
เพิ่ม Keyword หรือ Tag
การใช้คีย์เวิร์ดหรือแฮชแท็กเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยในการสร้างคอมมูนิตี้ให้เติบโตมากขึ้น เพื่อให้คนหากลุ่มเจอมากขึ้น แถมยังเป็นการย้ำให้เห็นชื่อ หรือแคมเปญต่างๆ ของแลรนด์ได้เป็นอย่างดี
Tag Product
นอกจากนี้ยังสามารถโพสต์ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ไปยังหน้าเพจ เพื่อเป็นการโปรโมตผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
Get Shop Visits
สามารถลิงก์ให้ไปยังหน้าร้านค้าได้โดยตรง เพื่อเพิ่มยอดการเข้าชม หรือยอดการซื้อมากยิ่งขึ้น
Advertise Your Business
นอกจากนี้ยังสามารถโปรโมตแบรนด์โดยการสร้างแคมเปญโฆษณาได้อีกด้วย
ดูข้อมูล Group Insight
เพื่อดูภาพรวมของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมต่างๆ ยอดการมีส่วนร่วม หรือการเคลื่อนไหวของสมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อให้แบรนด์เข้าใจถึงการมีส่วนร่วม หรือความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากนี้ยังสามารถเห็นสมาชิกที่มีการ active มากในกลุ่ม รวมถึงโพสต์ที่มียอด engagement มากที่สุด เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และพัฒนากลยุทธ์ในอนาคต
- Growth Tab: สามารถดูได้ว่าในแต่ละช่วงมีคนเข้ากลุ่มมากน้อยเท่าไหร่ อีกทั้งยังสามารถติดตามได้ว่ามีการตอบรับหรือปฏิเสธคำร้องขอเข้ากลุ่มไปเท่าไหร่
- Engagement Tab: จะเห็นข้อมูลสำคัญ เช่น จำนวนของโพสต์ที่แชร์ในกลุ่ม คอมเมนต์ในโพสต์ ยอดไลก์ และยอดรีแอ็กชัน เป็นต้น ดังนั้นก็จะสามารถเห็นสมาชิกที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ในกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกเพื่อแสดงว่าสมาชิกคนไหนเป็น Top post อีกด้วย
- Members Tab: รู้จักสมาชิกในกลุ่มมากขึ้น ผ่านข้อมูลอินไซต์ เช่น อายุ เพศ ประเทศหรือเมืองที่อาศัย ที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถจัดสรรคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์และเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
ที่มา: automonkey