ในปี 2012 หลายคนที่ติดตามข่าวต่างประเทศคงจะเคยได้ยินคำว่า Arab Spring ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์การลุกฮือขึ้นของประชาชนเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในประเทศฝั่งตะวันออกกลาง เริ่มต้นจากอียิปที่สามารถทำให้ประธานาธิบปีมุบาร็อกต้องออกจากอำนาจไปได้ กระแสเหล่านี้ลามไปยังประเทศรอบข้าง Google ถึงกับบันทึกปรากฏการณ์นี้ไว้ใน เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในปี 2012
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้คือ Social Media ในตอนนั้น Facebook เป็นที่นิยมไปทั่วโลก แน่นอนว่าบริบทของสังคมในยุคก่อน Social Media และหลังมี Social Media เข้ามา ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ซึ่งทุกอย่างล้วนมีด้านสว่างและด้านมืดของมัน และเป็นที่แน่นอนว่าสิ่งแรกที่เราจะเห็นก่อนก็คือด้านสว่างของมัน
Wael Ghonim ผู้ใช้ Social Media ชนะอำนาจมืด
เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่คุณ Wael Ghonim พูดเอาไว้ใน TED เมื่อปี 2016 ก่อนหน้านั้นเขาได้เขียนหนังสือชื่อ Revolution 2.0: The power of people is stronger than the people in power ซึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราวว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการทำการปฏิวัติแบบ 2.0 ซึ่งคุณ Ghonim บอกว่า Revolution 2.0 ของเขา คือการปฏิวัติแบบที่ไม่มีศูนย์กลาง แต่เกิดจากพลังที่มองไม่เห็น ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะ Social Media
ในปี 2010 คุณ Ghonim เห็นรูปของศพของคุณ Khaled Said หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกสังหารในการชุมนุมที่อียิป ซึ่งภายหลังเขาได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพลังที่มองไม่เห็นนี้ Ghonim ตั้งเพจที่ชื่อว่า We are all Khaled Said (พวกเราทุกคนคือ Khaled Said) ซึ่งปัจจุบันยังคงเข้าถึงได้อยู่ผ่าน Facebook เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่เหยื่อของการสังหารในครั้งนั้น Ghonim ไม่รู้เลยว่าการกระทำของเขาวันนั้นจะเปลี่ยนมุมมองของโลกที่มีต่อ Social Media ไปตลอดกาล
เป็นเวลากว่า 1 ปี ที่เพจดังกล่าวใช้ในการปลุกระดมความต้องการในสิทธ์ิของชาวอียิป และกลายเป็นกรณีศึกษา Arab Spring เริ่มต้นขึ้น พวกเขาใช้มันในการแสดงออกทางการเมือง และเรียกร้องคนให้มาชุมนุม อำนาจนั้นไม่ได้มาจากศูนย์กลางอีกต่อไป ไม่มีใครรู้ว่า We are all Khaled Said คือใคร เพราะ “We” นั้นไม่สามารถนิยามให้เป็นกลุ่มคนใดกลุ่มคนนึงได้ แม้กระทั่งตัว Ghonim เอง เพราะชาวอียิปนับแสนคนที่มากดไลค์เพจในตอนนั้น คือตัวแทนของพลังนี้
สุดท้ายแล้ว We are all Khaled เป็นเครื่องมือที่ชักจูงชาวอียิปนับแสนให้ออกมาตามถนน ในวันสำคัญที่ทำให้อียิปได้รับอิสรภาพ และได้เลือกตั้งครั้งแรก Ghonim บอกว่านี่คือตัวอย่างของ “Decenterized Movement” หรือการเคลื่อนไหวอย่างไร้ศูนย์กลาง ไม่มีเวทีกลางที่แกนนำม็อบคอยปราศัย, ไม่มีเวทีหลัก แต่ทุกคนออกมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ และแนวคิดที่เป็นจริงอยู่บนโลกออนไลน์ ณ ที่ใดก็ไม่รู้
ในวันที่ประธานาธิบดีมุบาร็อก พ่ายแพ้ต่ออำนาจที่มองไม่เห็นนั้นคือวันที่ Ghonim ภูมิใจที่สุด และชาวอียิปก็เหมือนจะอยู่ในโลกอันแสนสุขที่เชื่อว่าประชาชนคืออำนาจที่แท้จริง แต่นิทานยังไม่จบแค่นี้ มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของโลกในยุค Social Media และด้านมืดของมันค่อย ๆ เผยให้เห็นทีละน้อย
Social Media สอนให้คนใช้อำนาจ แต่ไม่เคยสอนให้ควบคุมมัน
Revolution 2.0 จบลง แต่สังคมได้เป็นตัวเลี้ยงสิ่งที่น่ากลัวกว่าขึ้นมาก็คือ การแบ่งขั้วหรือ Polarization คนนี้จะต้องเห็นด้วยกับฉันเท่านั้น ถ้าเขาไม่เห็นด้วยแปลว่าเขาต่อต้าน แม้ว่าเราจะวางตัวให้เป็นกลางแค่ไหน เราก็จะพบว่าเราจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับใครบางคนตลอดเวลา Ghonim พูดถึงเรื่องนี้ไว้ใน TED นี่คือผลที่ไม่คาดคิดที่เขาไม่ทันได้เขียนไว้ในหนังสือ Revolution 2.0
สังคมออนไลน์ทุกวันนี้เต็มไปด้วยข่าวปลอม, การหลอกลวง, วาทกรรมโจมตี, Fake News และคอนเทนต์ที่แฝงไปด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการชักจูง ชี้นำ เพื่อให้เราเป็นพวก หรือต่อต้าน มากกว่าการให้ความรู้
แล้วทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น Ghonim อธิบายต่อว่ามันคือธรรมชาติของมนุษย์ เพียงแค่สิ่งที่เรียกว่า Social Media และอินเทอร์เน็ต ช่วย amplify หรือขยายพฤติกรรม หรือไปจนถึงสันดาน (สันดานไม่ใช่คำหยาบ แต่แปลว่าอุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด) ของมนุษย์
เราลองนึกดู ถ้าเราอยากจะพูดอะไรบางอย่างที่อาจจะไม่ได้เป็นความจริง สิ่งที่เราจะทำคืออะไร ? ก็ต่อสู้หรือเมินเฉยต่อคนที่คิดไม่เหมือนกับเราสิ เช่น เราไม่ชอบเพื่อนร่วมงานใหม่คนนี้เลย เราก็จะเลือกที่จะไม่คบ หรือตั้งกลุ่มนินทาและหาพวก สิ่งนี้คือพฤติกรรมของมนุษย์ มันเพียงแค่ถูกนำมาขยายให้รุนแรงขึ้นด้วย Social Media แล้วพอมันเป็น Media ที่มาจากคำว่า Medium หรือ ตัวกลาง มันก็เลยพัง (และนี่เองคือสาเหตุที่เราเรียกมันว่า Social Media ให้มันต่างจาก Media อื่น ๆ)
Social Media และโลกอินเทอร์เน็ต คือสิ่งที่กระตุ้นด้านมืดของมนุษย์
ถ้าใครเคยอ่านบทความเรื่อง Echo Chamber เสียงก้องแห่งโลกโซเชียล ที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ ก็จะทราบดีว่า จริง ๆ แล้ว Mark Zuckerberg ไม่ได้อยากให้ Facebook วุ่นวายหรือมีอำนาจมหาศาลขนาดนี้ เพียงแต่ว่า Social Network ทำให้เราเสียนิสัย เหมือนกับการเสพติดยาเสพติด ตอนแรกมันแค่ถูกสร้างขึ้นมาให้คนมีความสุข แต่สุดท้ายพอคนเสพติดก็ไม่ทำงานทำการ
Social Network ถูกออกแบบมาเพื่อให้คน กลับมาใช้งานอีก ซึ่งนั่นหมายความว่ามันจะ ต้องแสดงสิ่งที่เราอยากจะเห็น แต่ในอีกแง่นึง การแสดงในสิ่งที่เราอยากจะเห็นนั้นก็เป็นการทำให้เรา ไม่เห็นสิ่งที่เราไม่อยากจะเห็นแม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความจริงก็ตาม
ตัวอย่างของสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราพบได้ทั่ว ๆ ไปในโลกอินเทอร์เน็ต
- การกด Like หรือ Dislike เพื่อตัดสินว่าเราชอบหรือไม่ชอบ
- การเลือกที่จะ Follow หรือเป็น Friend กับใครไม่เป็น Friend กับใคร จะ mute หรือ block ใคร
- การที่เราเลือกได้ว่าจะอ่านข่าวจากเว็บไหน หรือติดตามนักเขียนคนไหน
- และที่สำคัญที่สุดคือ อัลกอริทึมที่นำสิ่งที่เราต้องการมา Serve ให้เรา ราวกับว่ามันคือโลกทั้งใบที่ทุกคนต้องเห็น แต่จริง ๆ มันเป็นแค่โลกที่ถูกสร้างขี้นเพื่อสนองต่อปัจเจกบุคคลต่างหาก
พอสิ่งนี้กลายมาเป็นพฤติกรรมทั่ว ๆ ไปที่เราทำกันในชีวิตประจำวันมันจึงค่อย ๆ เผยด้านลบของมนุษย์ขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะมนุษย์ไม่เคยหยุดที่จะแบ่งข้าง ในตอนนั้นเราแค่แบ่งข้างเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล สุดท้ายเราจะแบ่งข้างเพื่อต่อสู้กันเองกับคนที่เห็นต่าง ๆ
แล้วคนทำคอนเทนต์ และผู้เสพคอนเทนต์ ควรทำอย่างไร
ทีนี้เราในฐานะคนทำคอนเทนต์ และคนที่เสพคอนเทนต์ จะทำอย่างไรได้บ้าง แน่นอนว่าเราทุกคนก็ยังคงเป็นมนุษย์ เรามีสิ่งที่เราชอบ เรามีสิ่งที่เราไม่ชอบ มีคนที่เราอยากคุยด้วยและไม่อยากคุยด้วย มีประเด็นในบทควาทที่เราอยากเล่าและไม่อยากเล่า แต่เราจะทำอย่างไรให้ความ Bias ในตัวเรา ส่งผลต่อคนอื่นน้อยที่สุด
Ghonim ได้ลองเสนอแนวทางง่าย ๆ ที่จะทำให้เราสามารถสร้างโลกที่ดีขึ้นได้
- ทำคอนเทนต์ที่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม มากกว่าแค่ชอบหรือไม่ชอบ – ถ้าเราจะเขียนบทความซักบทความนึง คุณค่าของมันจะอยู่ที่ตรงไหน จำนวนคนเห็นด้วย คนที่ Like เยอะ Dislike น้อย ? จริง ๆ แล้วเราควรจะให้คุณค่าว่า คอนเทนต์นั้น Impact มากแค่ไหน เขาอาจจะไม่เห็นด้วย แต่มันได้ช่วยเปิดมุมมองอะไรบางอย่างให้กับเขาอย่างตรงไปตรงมา
- กระตุ้นให้เกิดบทสนทนาที่มีเหตุผล มากกว่าแค่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย – เราคงจะเคยเลื่อน Feed ผ่านโพสต์ที่มีลักษณะเป็นข้อคิดเห็นต่าง ๆ บางทีเราก็อยากจะไปคอมเม้นแตกต่างจากคนเหล่านั้น แต่เรากลัวที่จะ “โดนถล่ม” มากกว่า และก็เก็บคอมเม้นของเราไปคอมเม้นในที่ที่เราคิดว่าที่ของเรา เราจะทำคอนเทนต์และดูแลช่องทาง เพจ, เว็บไซต์ ต่าง ๆ ของเรายังไง ที่ไม่ให้เกิดพฤติกรรม “ลูกเพจไปถล่มคนคิดต่าง”
- ระลึกว่า แค่ไลค์หรือผู้ติดตาม ไม่ได้บอกว่าคอนเทนต์เรามีคุณภาพ เขาแค่เห็นด้วยกับเราเท่านั้น ถ้าเจ๋งจริง ต้องทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เพราะถ้าแค่สนุกกับการเห็นคนไลค์หรือติดตามเยอะขึ้น นั่นก็แค่การเพิ่มความ bias ของเรามากขึ้นเท่านั้น (สังเกตได้จากเพจใหญ่ ๆ ที่ชอบคิดว่าตัวเองถูกเสมอ)
สุดท้ายแล้ว มันคือการเข้าใจธรรมชาติ เราลองนึกภาพดูก็ได้ว่า เพจต่าง ๆ บน Facebook มีลักษณะเป็นอย่างไร เราเห็นการถล่มกันทุกวัน ในเมื่อเราเข้าใจแล้ว เรายังจะสนับสนุนมันอยู่หรือเปล่า ?
เราไม่ได้อยากให้ทุกคนทำคอนเทนต์โลกสวยหรือต้องให้คุณค่ากับความดีงามอยู่ตลอดเวลา เราเพียงแค่อยากให้ทุกคนเห็นและรู้ว่าจริง ๆ แล้วทุกสิ่งที่เราทำ ทุกคอนเทนต์ที่เราลง ทุกบทความที่เราเขียน การที่มีคนติดตามเราเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน ไม่ได้แปลว่าเราถูกต้อง เราแค่รู้สึกว่าตัวเองมีพวก แล้วมีข้ออ้างที่จะทำสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เราอาจจะรู้ว่าก็ไม่ถูกต้อง แต่มีคนที่คอยจะปกป้องเราเท่านั้น
วิธีทำคอนเทนต์ให้ดังแค่ พูดสิ่งที่คนอยากฟัง แต่วิธีการทำคอนเทนต์ที่ดี คือเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้แก่คน และทำให้เขาอยากจะเข้ามาฟัง
คนไทยยังคงใหม่กับ Social Network ในขณะที่เรื่องของการแบ่งฝ่ายและความขัดแย้ง ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเรามากนัก เราจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยี เป็นวิธีการแก้ปัญหา ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา ทั้งหมดนี้ก็คงฝากไว้กับคีย์บอร์ด, กล้อง และปุ่ม Uplaod ของคนทำคอนเทนต์ทุกคน
เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER