คนทำคอนเทนต์หลาย ๆ คนใช้วิธีการเขียนในการบอกเล่าเรื่องราว โดยเฉพาะ Blogger หรือ นักเขียน คอลัมนิสต์ต่าง ๆ ที่ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไรก็สามารถนำมาเป็นประเด็นเขียนบอกเล่าออกมาเป็นคอนเทนต์ได้ซะหมด บรรดา Blogger หรือนักเขียนออนไลน์ก็คงจะคุ้นชินกับ WordPress ซึ่งเป็น CMS ยอดนิยม ไม่ว่าจะเว็บไหนก็ใช้ WordPress กันไปเสียหมด หรือใครที่เขียนลงในช่องทางอื่น Facebook, Medium ก็จะคุ้นชินกับเครื่องมือของแต่ละ Platform
ประเด็นก็คือ เราควรเขียนในเครื่องมือ Platform เหล่านั้น หรือว่าควรเขียนในโปรแกรมอื่นก่อนแล้วค่อยก็อปไปจัดวางดี จริง ๆ แล้วไม่มีวิธีที่ตายตัว วันนี้ทีมงาน RAiNMAKER อยากลองมาแชร์ประสบการณ์การเขียนงานด้วยโปรแกรมแบบ Word Processing ก่อนที่จะไป Publish ลงในเว็บไซต์หรือบล็อกต่าง ๆ
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ผู้เขียนเป็นคนที่เขียนบทความวันนึงประมาณ 2-3 บทความ ลงบนเว็บไซต์ 4 เว็บไซต์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือเว็บไซต์ทั้ง 4 ล้วนแต่เป็น WordPress ทำให้ไม่มีปัญหาด้านการใช้งานเครื่องมือ แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า เราจะจัดการกับงานเขียนของเราเยอะขนาดนั้นได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงเลือกใช้โปรแกรมแนว ๆ Word Processing เข้ามาช่วย
แต่ต้องบอกก่อนว่า Word Processing พวกนี้ ไม่ใช่แค่ Microsoft Word หรือ Pages นะ เพราะโปรแกรม Word หรือ Pages เป็น Word Processing ที่ออกแบบมาสำหรับการพิมพ์ลงบนกระดาษ ทำให้ให้ความสำคัญเรื่องขนาดตัวอักษร, การย่อหน้าและสีต่าง ๆ แต่ Word Processing ที่พูดถึงในวันนี้คือ โปรแกรมสำหรับพิมพ์งานที่จะขึ้นไปอยู่บนออนไลน์ ดังนั้นความสำคัญของมันจะไม่อยู่กับขนาด หรือย่อหน้าอะไรมาก แต่จะอยู่กับการจัดการลิ้งค์, Format Markdown และ HTML รวมถึงระบบการ Search ค้นหาคำต่าง ๆ และจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ที่สะดวกต่อคนที่ต้องเขียนงานบนคอมพิวเตอร์
เหตุผลที่ควรใช้โปรแกรมเขียนงาน
มาถึงตรงนี้แล้ว เราจะมาดูเหตุผลที่การใช้โปรแกรมช่วยเขียนงานจะมาแก้ปัญหาของเราได้
แบ่งแยกหมวดหมู่ชัดเจน มาค้นหาทีหลังได้ ไม่หลงไม่ลืม อย่างที่บอกไป ใครที่เขียนอะไรลงหลาย ๆ เว็บ หรือเขียนหนังสือ เขียนคอลัมน์ ถ้าเราใช้โปรแกรมพวกนี้ เราจะสามารถสร้าง Folder, หมวดหมู่ หรือ Tag งานเขียนของเราได้ ทำให้เราสามารถมาดูย้อนหลังได้ว่า เราเขียนในประเด็นอะไรไปแล้วบ้าง ป้องกันไม่ให้เราเขียนงานซ้ำ ๆ หรืองงว่าเคยเขียนถึงประเด็นนี้ไปแล้วหรือยัง
ระบบการค้นหาคำ ไฮไลต์คำ เหมาะกับการเขียนงานเยอะ ๆ มาก สิ่งที่ชอบมาก ๆ อย่างนึงคือระบบการค้นหาคำ การไฮไลต์คำ บางโปรแกรมสามารถบอกได้เลยว่า เราใช้คำนี้ไปแล้วกี่คำ ป้องกันไม่ให้เราเผลอใช้คำฟุ่มเฟือยหรือเขียนซ้ำไปซ้ำมา
สามารถ Export ออกไปเป็น HTML หรือ Markdown หรือไฟล์ Word, Text ได้ทันที อย่างที่บอกไปว่าโปรแกรมพวกนี้วัตถุประสงค์คือการเขียน ดังนั้นเขียนไปเลยไม่ต้องกลัวอะไร เราสามารถ Export เป็นไฟล์ต่าง ๆ ได้ทีหลัง เช่น ถ้าต้องการจะอัพขึ้น WordPress เราก็ Export เป็น HTML แล้วก็อปไปวางได้เลยทันที หรือถ้าต้องส่ง Preview ให้กับลูกค้า หรือให้ บก. ก็สามารถ Export เป็นไฟล์แบบ Word หรือ Text ได้ สะดวกสำหรับการทำงานร่วมกับคนอื่น และเราสามารถตั้ง format มาตรฐานของเราไว้ได้เอง ไม่ต้องก็อปงานเขียนไปลง Word แล้วพยายามปรับให้มันสวยเพื่อส่งให้ลูกค้าหรือ บก. ดู
ไม่ต้องปวดหัวกับการขึ้นหน้าใหม่ การเซฟไฟล์ หรืออะไรที่ไม่จำเป็น ถ้าเราใช้โปรแกรมพวก Word อะไรแบบนี้ในการพิมพ์งานแล้วละก็ เราจะพบว่าเราจะต้องจัดการกับไฟล์ Word ต่าง ๆ เต็มไปหมด ต่อให้แบ่งเป็น Folder แล้ว แต่ก็ไม่รู้สว่าจะต้อง Search อย่างไรดี หรือจะหาบทความคล้าย ๆ กันยังไง โปรแกรมพวกนี้ออกแบบมาสำหรับคนที่ต้องเขียนงานเยอะ ๆ โดยเฉพาะ ทำให้เราเอาเวลาพวกนี้ไปเขียนงานดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลาในการจัดการระบบ
ช่วยให้เราโฟกัสกับงานเขียนได้มากขึ้น หลาย ๆ โปรแกรมจะมาพร้อมกับฟีเจอร์พวก Focus Mode ที่ช่วยให้เรามีสถิติกับสิ่งที่กำลังเขียนอยู่ตรงหน้า หรือมี Dark Mode ให้ใช้หากเขียนงานตอนกลางคืน ทำให้เราไม่ปวดตาด้วย ที่สำคัญก็คือ ถ้าเราเขียนงานบน Browser เชียน WordPress มีโอกาสสูงมากที่เราจะสลับไปเล่น Facebook หรือทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงาน การใช้โปรแกรมพวกนี้ก็จะยิ่งช่วยเพิ่ม Productivity ให้กับเราอย่างชัดเจน
แนะนำโปรแกรมสำหรับเขียนงาน
พอเราได้เห็นประโยชน์คร่าว ๆ ของ Word Processing พวกนี้ไปแล้ว ผู้เขียนก็จะมาแนะนำ 4 โปรแกรม ที่เห็นว่าเด็ดและเหมาะสมสำหรับนักเขียนคอนเทนต์ทุกคนได้เลือกใช้กัน
- iA Writer เป็นโปรแกรมที่ UI สวยมาก แต่มีราคาแพงที่สุด มีทุกฟีเจอร์ที่กล่าวมาและเป็นที่นิยมในหมู่นักเขียน
- Ulysses เป็นโปรแกรมที่ผู้เขียนใช้อยู่ จ่ายรายเดือนเดือนละ 120 บาท นับว่าคุ้มค่า คล้าย ๆ iA Writer
- Simplenote เป็นโปรแกรมฟรี แต่ฟีเจอร์ดีพอสมควรเลย
- Evernote เป็นโปรแกรมฟรีเช่นกัน ตัวนี้เด่นด้านการจัดการหรือ Management ค่อนข้างอเนกประสงค์
อีกหนึ่งข้อสำคัญที่ควรรู้ก็คือ ทุกโปรแกรมจะ Sync กันผ่าน Cloud ทำให้ไม่ต้องห่วงว่าไฟล์งานเราจะหายหรือหาไม่เจอเวลาไปใช้คอมเครื่องอื่น ใครที่อยู่บ้านแล้วใช้ iMac อยู่นอกบ้านใช้ MacBook หรือ iPad ก็ไม่ต้องห่วงไม่มีปัญหา
อย่างที่บอก บทความนี้ไม่ได้จะมาชี้นำว่าต้องใช้โปรแกรม Word Processing ในการเขียนงานบนเว็บหรือเปล่า แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวเลยก็คือ หลังจากที่เปลี่ยนจากเขียนบนหน้าเว็บหรือบน Interface ของโปรแกรมมาเป็นบน Ulysses แล้ว ก็รู้สึกว่าตัวเอง Productive กับงานเขียนมากขึ้น และสามารถ Organize จัดการกับงานเขียนของตัวเองได้อย่างมีระเบียบ ใครที่ต้องเขียนงานทีละเยอะ ๆ หรือเขียนเว็บหลายเว็บละก็ ลองหาโหลดหรือยอมเสียเงินมาลองก็ไม่น่าเสียหาย