SocialTipsWebsite

Avatar

Nokkaew January 4, 2020

คำแนะนำในการเลือกซื้อ Theme WordPress เพื่อนำมาใช้งานกับ Blog

เริ่มต้นปีใหม่ เหล่าครีเอเตอร์หลายท่านก็อาจจะกำลังอยากมีเว็บไซต์ หรือบางท่านก็มีแพลนที่จะปรับปรุงเว็บไซต์ของตัวเองให้ดีขึ้น หากเราทำเว็บไซต์เพื่อเขียนบล็อคด้วยตัวเอง หรือไม่ได้มีทุนทรัพย์มาก การเลือกซื้อ theme สำเร็จรูปมาใช้งานก็เป็นตัวเลือกที่ดี

ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงเฉพาะธีมที่มีค่าใช้จ่ายเท่านั้น ซึ่งถ้าหากต้องการนำไปใช้งานอย่างจริงจังแล้ว ก็ไม่ค่อยแนะนำให้ใช้ธีมดาวน์โหลดฟรีสักเท่าไร เพราะจะขาดในเรื่องของการซัพพอร์ตถาม-ตอบ เมื่อมีปัญหา รวมไปถึงการอัปเดตด้วย ที่ธีมฟรีส่วนมากมักจะหยุดทำไปดื้อๆ ก็มี ลงทุนครั้งเดียวไม่กี่พันบาท รับรองว่าคุ้มค่าครับ

 

แหล่งเลือกซื้อ Theme ที่น่าสนใจ

ThemeForest แหล่งซื้อ-ขาย Theme ที่ใหญ่ที่สุด

ถ้าพูดถึง marketplace ที่เป็นแหล่งซื้อ-ขาย theme ที่ใช้งานกันทั่วโลก แน่นอนว่าต้องเป็นเว็บไซต์ themeforest.net ของบริษัท Envato เจ้าพ่อแห่ง marketplace สำหรับ digital product

มีธีมคุณภาพดีไว้ใจได้ให้เลือกมากมายหลักหลายหมื่นชิ้น ในหมวดหมู่ที่หลากหลาย ฟีเจอร์มากมาย รองรับเว็บไซต์ทุกรูปแบบเท่าที่คุณจะนึกออก ขนาดว่ากดเข้าเว็บไซต์มาแบบ blank ไม่มีอะไรในใจเลย ก็สามารถออกไปโดยมีของติดไม้ติดมือได้

ซึ่งเราจะมีคำแนะนำในการเลือกซื้อ theme จาก ThemeForest ในส่วนต่อไป

 

SeedThemes ธีมเวิร์ดเพรสสำหรับคนไทย

นอกจากธีมของต่างประเทศทั่วโลกแล้ว บ้านเราเองก็เป็นประเทศที่ใช้ WordPress กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง มี community ที่ใหญ่พอจนสามารถเป็นเจ้าภาพในการจัดงานระดับเอเชียอย่าง WordCamp Asia ได้สบายๆ

SeedThemes เป็นธีมที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดคนไทยที่ใช้ WordPress โดยคุณเม่น (imenn) ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการนี้นั่นเอง

สำหรับใครที่ต้องการใช้ธีมที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานในบ้านเรา มีทีมซัพพอร์ตที่คอยตอบคำถามเป็นคนไทย ชุมชนผู้ใช้งานเป็นคนไทย ติดปัญหาส่วนไหนก็คุยกันได้ง่ายมาก ก็เข้าไปลองใช้งานกันได้

SeedThemes เองมีทั้งส่วนที่เป็น Starter Theme (SeedTheme) และธีมสำเร็จรูปพร้อมใช้งาน (Plant) ซึ่งเราจะกล่าวถึงความแตกต่างทั้งสองแบบในส่วนต่อไป

 

แหล่งดาวน์โหลดอื่นๆ

นอกจากแหล่งช็อปปิ้งที่เราแนะนำสองส่วนด้านบนแล้ว ยังมีธีมอีกมากมายที่ไม่ได้อยู่ให้ดาวน์โหลดบน ThemeForest แต่จะขายอยู่บนเว็บไซต์ของผู้พัฒนาเอง ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาธีมเจ้าใหญ่อย่างเช่น www.elegantthemes.com, underscores.me หรือ elementor.com เป็นต้น

ซึ่งโดยมาก แหล่งดาวน์โหลดดังกล่าวจะเป็นผู้พัฒนา starter theme และ plugin ประเภท Page Builder (อ่านเพิ่มที่ : รู้จักกับ Page Builder เครื่องมือเสกเว็บ WordPress สำหรับมือใหม่)

 

รู้จักประเภทของ Theme ที่เหมาะสมกับแต่ละงาน

ธีมแต่ละแบบที่พัฒนาออกมาปัจจุบันมีจำนวนหลักแสนหรืออาจถึงหลักล้านชิ้น มีการใช้งานที่แตกต่าง เพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ทางผู้เขียนจะแบ่งประเภทตามลักษณะการใช้งานใหญ่ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นดังนี้

Theme สำเร็จรูป

เป็นธีมประเภทที่เหมาะสมกับการใช้งานได้ทันที ใช้งานง่ายเพียงแค่ปรับแต่งข้อมูลพื้นฐานหรือเลือกสีของเว็บก็พร้อมใช้งานแล้ว ประมาณ 90% ของธีมที่จำหน่ายบน ThemeForest จะเป็นประเภทนี้

มีสิ่งที่ต้องระวังคือ Theme ลักษณะนี้จะไม่มีความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง layout สักเท่าไรนัก หากคุณไม่ได้มีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรม แนะนำว่าให้ลองหาจนกว่าจะได้ layout ในแบบที่ชอบแล้วค่อยกดซื้อ

 

Page Builder Theme

ธีมที่ออกแบบโดยใช้งานร่วมกับ plugin ประเภท Page Builder เช่น Divi, Elemetors, Flatsome, Aveda สามารถปรับแต่ง layout ได้อย่างยืดหยุ่นมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้การใช้งาน Page Builder ของเจ้านั้นๆ ด้วย ทำให้ถ้าใช้งานครั้งแรกจะใช้เวลาเรียนรู้ระดับหนึ่งกว่าจะได้เว็บไซต์อย่างที่ต้องการ

เหมาะสำหรับท่านที่เคยใช้งาน WordPress มาบ้างแล้ว หรือมีความรู้เรื่องการออกแบบเว็บไซต์และมี reference หรือดีไซน์คร่าวๆ ในใจเอาไว้อยู่แล้ว

 

Starter Theme

ธีมที่ออกแบบมาเพื่อนเป็น framework เพื่อนำไปเขียนโปรแกรมพัฒนาต่อจากโค้ดเดิม หากท่านที่ไม่ใช่นักพัฒนาซื้อมาติดตั้งก็จะงงๆ หน่อย ทำไมหน้าตามันคลีนจนไม่มีอะไรเลย เพราะว่าเป็นธีมที่ออกแบบมาเพื่อให้เขียนต่อเติมเข้าไปนั่นเอง เช่น Seed Theme, Underscore เป็นต้น

 

คำแนะนำในการค้นหา Theme บน ThemeForest

ในการเลือกซื้อธีมที่มีอยู่บน marketplace หลายหมื่นชิ้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับการเข้ามาช็อปครั้งแรกโดยไม่มีประสบการณ์ ซึ่งอาจทำให้เสียเงินซื้อของที่ไม่ได้ต้องการมาได้

สำหรับการเลือกหาธีมสำเร็จรูปเพื่อนำมาใช้งานกับ Blog เรามีคำแนะนำในการค้นหาธีมบน ThemeForest ดังนี้

Category : หมวดหมู่ของธีมที่มีให้เลือกหลากหลายมาก สำหรับการค้นหาธีมที่ใช้ทำเว็บไซต์แนว blog แนะนำค้นหาใน category ดังนี้ Blog, Magazine, News ซึ่ง category ดังกล่าวออกแบบ layout มาให้ค่อนข้างสำเร็จรูปแล้วสำหรับ blog

หรือหากต้องการดีไซน์แบบอื่นเพิ่มเติม เช่น Minimal หรือ Food ก็เลือกได้ตามชอบ

Sales : จำนวนยอดขายของธีมหลายระดับ เราแนะนำให้เลือกตั้งแต่ Meduim ขึ้นไป ซึ่งยอดขายของธีมนั้นจะส่งผลถึงการซัพพอร์ตและการอัปเดตด้วย หากธีมที่ไม่มียอดขายเป็นระยะเวลานาน เป็นไปได้สูงว่าผู้พัฒนาก็จะปล่อยทิ้ง ไม่ได้อัปเดตหรือมีการซัพพอร์ตผู้ซื้ออย่างที่ควรจะเป็น

Sort by :

ส่วนนี้จะอยู่ที่ด้านขวาบนของหน้าค้นหา มีตั้งแต่ยอดขาย, ธีมล่าสุด, ธีมยอดฮิต และราคา ในส่วนนี้แนะนำให้เลือกจาก Best sellers หรือ Trending ก่อนครับ เนื่องจากธีมที่ขายดีค่อนข้างการันตีอยู่แล้วว่าใช้งานได้ดี รวมถึงการตอบปัญหาลูกค้าฉับไว มีการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจัยใดบ้างที่เราต้องคำถึงถึงก่อนกดจ่ายเงิน

License details หรือสัญญาการใช้งาน

โดยในราคา Regular ประมาณ 2,000 บาท จะสามารถนำไปใช้ได้เพียง 1 เว็บไซต์เท่านั้น และมีการซัพพอร์ต 6 เดือน หมายความว่าภายใน 6 เดือนที่ซื้อธีมไป คุณสามารถถาม-ตอบ (เป็นภาษาอังกฤษ) กับผู้พัฒนาได้

แต่ถ้าต้องการซัพพอร์ตที่นานกว่านั้น ก็สามารถเลือก extend support พร้อมกับเสียเงินเพิ่มได้

 

Sales, Review, Comment

ในหน้าจำหน่ายธีม ผู้ใช้งานทุกคนสามารถกดเข้าไปดูส่วนของ Review และ Comment ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ซื้อ ในส่วนนี้สำคัญมาก เราจะได้เห็นการพูดคุยระหว่างผู้ซื้อและผู้พัฒนา นั่นหมายถึงการซัพพอร์ตนั่นเอง

ทำให้เราทราบได้ว่าผู้ขายมีบริการหลังการขายเป็นอย่างไรบ้าง ปล่อยบั๊กแล้วไม่แก้บ้างไหม มีการช่วยเหลือดีไหม ตอบเร็วไหม

 

และยิ่งธีมที่มียอดขายสูง นั่นหมายถึงผู้พัฒนาก็จะเห็นว่าสินค้าชิ้นนี้มีมูลค่า สิ่งที่ตามมาคือมีการอัปเดตเวอร์ชั่นอย่างสม่ำเสมอ มีฟีเจอร์พิเศษที่อาจจะมาจากการรีเควสของผู้ซื้อ เป็นต้น

 

การอัปเดต

การที่เราจะทราบได้ว่าธีมที่เรากำลังดูอยู่ ยังมีความเคลื่อนไหวจากผู้พัฒนาหรือไม่ ให้ดูวันอัปเดตล่าสุดตรงนี้ด้วย หากทิ้งไว้นานหลายเดือนหรือเกินหนึ่งปี เป็นไปได้ว่าผู้พัฒนาไม่ได้ทำต่อแล้ว ไม่แนะนำให้ซื้อมาใช้

 

 

อย่าลืมอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งสำคัญที่สุดหลังจากเราเลือกซื้อธีมแล้ว ให้กดอัปเดตทุกครั้งที่มีการปล่อยเวอร์ชั่นใหม่จากทางผู้พัฒนา เช่นเดียวกับการอัปเดตเวอร์ชั่นของ WordPress เพื่อความปลอดภัยของเว็บไซต์เราเอง

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save